อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง
ความขาวใสไร้ริ้วรอยของใบหน้านั้นจัดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน อีกทั้งเนื่องด้วยเมืองไทยของเราเป็นเมืองที่มีอากาศร้อนและแสงแดดที่แผดเผาไม่ปราณีผิวพรรณทำให้คนไทยส่วนใหญ่นอกจากจะมีสีผิวที่คล้ำแล้วยังประสบปัญหาผิวต่างๆ เช่น ฝ้า กระ และจุดด่างดำ อันเป็นเหตุให้ต้องรีบแก้ไขและทำการรักษาโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้หญิงอย่างเราๆ จุดด่างพร้อยบนใบหน้าถือเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออกไปโดยเร็ว
ปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย ซึ่งเรารู้จักกันในนาม ครีมหน้าขาว (Whitening Products) ครีมหน้าขาวนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตในบรรดาสุภาพสตรี เพราะเห็นผลเร็ว ผิวขาวเนียนใสจริง แต่ภายในระยะเวลาอันสั้น ความขาวใสนี้ จะถูกแทนที่ด้วยอาการข้างเคียง คือ รอยไหม้ดำที่ค่อยๆแผ่วงกว้าง รอยแดง ผื่นแพ้ หน้าบาง ติดเชื้อง่าย ซึ่งใช้เวลาในการรักษานานและในบางรายอาจเป็นถาวร เมื่อผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ อย.จึงเข้ามามีบทบาทในการสืบสวนหาสาเหตุ และได้ประกาศ รายชื่อสารต้องห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อันได้แก่ สารปรอท สารไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และกรดเรติโนอิก เป็นต้น
สารต้องห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง
1. ปรอท (mercury)
- กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาวสารปรอทที่ใช้อยู่ในรูปของไดวาเลนซ์แคทไอออน [mercuric (II) ion, Hg2+] จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง จึงช่วยให้สีผิวขาวขึ้น นอกจากนี้ปรอทยัง มี ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย
- ผลข้างเคียงจากการใช้ สารประกอบของปรอททำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง และเมื่อใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ อีกทั้งในสตรีมีครรภ์ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไปสู่ทารก ทำให้เด็กมีสมองพิการและปัญญาอ่อน
- วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง หลังใช้หากมีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้และไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษา
2. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
ไฮโดรควิโนนออกฤทธิ์โดยการยับยั้งกระบวนการทางเคมีของเซลล์สร้างเม็ดสี(melanocyte) โดยไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส(Tyrosinase)ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสี(melanin) เมื่อปริมาณเม็ดสีลดลง จึงส่งผลให้ผิวขาวขึ้นได้ จากกลไกนี้ทำให้ยาไฮโดรควิโนนถูกนำมาใช้เป็นยาทารักษาผิวที่เป็นฝ้า กระ และจุดด่างดำ ไฮโดรควิโนนจัดเป็นยาทาภายนอกใช้เพื่อการรักษาและได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางมักผสมไฮโดรควิโนนในปริมาณสูง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้ผสมสารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%)
อาการข้างเคียงจากการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรคิวโนน เกิดตุ่มนูนดำตามบริเวณผิว หน้าบาง ไวต่อแสงแดด แสบร้อนเมื่อเจอความร้อนหรือแดด
- ผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางที่มีสารไฮโดรควิโนนเกินขนาด อาการแสบร้อน ตุ่มแดง และภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดตัวยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยาได้
- วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง หลังใช้ยานี้ถ้ามีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่
3. สเตียรอยด์ (Steroid)
- กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว เสตียรอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเคมีสื่อกลาง(mediators) เช่น โพรสตาแกรนดิน(prostaglandin) และลิวโคไตรอีน(leukotriene) ที่ใช้ในการการสร้างเม็ดสี (melanin) ทำให้ปริมาณเม็ดสีลดลงส่งผลให้ผิวขาวขึ้น สเตียรอยด์เป็นสารที่ห้ามใส่ในเครื่องสำอาง มักใช้เป็นสูตรผสมกับยาตัวอื่น เช่น ไฮโดรควิโนน หรือ เรตินอยด์ในการรักษา ฝ้า กระ และจุดด่างดำ เสตียรอยด์ช่วยในการเสริมฤทธิ์ และช่วยลดอาการข้างเคียงของไฮโดรควิโนน และ เรตินอยด์ ได้ดี
- ผลข้างเคียงจากการใช้ การใช้ยาทาเสตียรอยด์ในความเข้มข้นสูง ใช้ผิดวิธี และ ใช้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เช่น ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวหน้าบาง ทำให้มลภาวะสารพิษจากภายนอกเข้าสู่ผิวหนังชั้นแท้ได้ง่ายขึ้น และเห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น
อาการข้างเคียงจากการใช้ยาทาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน คือ ผิวมีลักษณะเป็นตุ่มผดผื่น หน้าบางและไวต่อแสง
- วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง หลังใช้หากมีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่